La liberté guidant le peuple


 “เสรีภาพนำประชาชน” (Liberty Leading the Peopleของ แฟร์ดีนองด์ วิคตอร์ เออแฌน เดอลาครัวซ์ (Ferdinand Victor Eugène Delacroix) หรือ เดอลาครัวซ์ เป็นจิตรกรรมสีน้ำมันมีขนาดความกว้าง 260 เซนติเมตร ขนาดความยาว 325 เซนติเมตร ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) ณ กรุงปารีส (Paris) ประเทศฝรั่งเศส (Franceสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1830 ถือว่าเป็นผลงานที่มีลักษณะการแสดงออกและวิธีคิดแบบลัทธิโรแมนติก (Romanticism)หรือเรียกว่าเป็นพวกขบวนการจินตนิยม
                 เรื่องราวของภาพ “เสรีภาพนำประชาชน” เป็นการบอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์การปฏิวัติในยุคสมัยการปกครองของพระเจ้าชาร์ลส์ที่10 แห่งฝรั่งเศส (Charles Philippe of France) ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์บูร์บง (Maison de Bourbon) ครองราชย์ระหว่างค.ศ. 1824 - ค.ศ. 1830 อันเนื่องมาจากการละเมิดอำนาจของสภาของพระองค์ ทำให้มีการปกครองที่ล้มเหลวไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ประชาชนเกิดความเสื่อมศรัทธาในตัวของพระองค์ เป็นผลทำให้ประชาชนชนชั้นกลางเข้าร่วมมือกับพวกฝ่ายสาธารณรัฐ นิสิตนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยและกลุ่มผู้ใช้แรงงานกรรมกร ก็ร่วมกันตกลงที่จะใช้กำลังอาวุธในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนนำไปสู่จลาจลสงครามกลางกรุงปารีส ในช่วงวันที่ 27 – 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1830 เป็นผลให้พระองค์ทรงลี้ภัยไปประทับอยู่ที่สกอตแลนด์ เหตุการณ์ดังกล่าวรู้จักกันในนามการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม 
ปี ค.ศ. 1830 (July Revolution)
    เดอลาครัวซ์ได้รับผลกระทบทางความรู้สึกจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างรุนแรง ทั้งนี้อาจจะเป็นอุปนิสัยที่สนใจเกี่ยวกับความเป็นไปทางสังคมและการเมืองทำให้เขาสร้างผลงานชิ้นนี้ด้วยความตั้งใจที่จะระลึกถึงการต่อสู้และการอุทิศชีวิตของประเพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันสำคัญ ดังจดหมายที่เขาเขียนถึงพี่ชายลงวันที่ 12 เดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1830 ว่า อารมณ์อันขุ่นมัวเป็นเสมือนยากระตุ้นให้ข้าพเจ้าทำงานอย่างหนักข้าพเจ้านำเรื่องสมัยใหม่ และถ้าข้าพเจ้ามิอาจลุกขึ้นสู้เพื่อประเทศชาติ แต่อย่างน้อยข้าพเจ้าจะวาดภาพนี้สำหรับเธอ...
                 เดอลาครัวซ์มีแนวทางการแสดงออกทางศิลปะตามลัทธิโรแมนติกนิยม (Romanticism) ซึ่งมักจะมีการแสดงออกถึงเรื่องราวอันเป็นการยกย่องลัทธิปัจเจกนิยม การรับรู้ทางจิตวิสัย ความไม่คำนึงถึงเหตุผล จินตนาการ อารมณ์ความรู้สึก ธรรมชาติ อารมณ์อยู่เหนือหลักเหตุผล และความรู้สึกอยู่เหนือสติปัญญา  แนวทางดังกล่าวกระตุ้นความรู้สึกและจินตนาการ ศิลปินกลุ่มนี้มักมีการแสดงออกในทางศิลปะอย่างอิสรเสรีกว่าศิลปินยุคก่อนหน้า มีความกล้าหาญในการใช้สีอย่างรุนแรงประกอบกับการทิ้งรอยฝีแปรงทำให้ภาพเกิดความเคลื่อนไหวและมีผลให้เกิดความสั่นสะเทือนในการมอง มักแสดงออกถึงเรื่องราวอันเป็นสิ่งที่อลังการ เหตุการณ์ที่สำคัญในสังคม และมุ่งเน้นให้เกิดการสะเทือนอารมณ์อย่างรุนแรง ดังที่ชาร์ลส โบดแลร์ (Charles Baudelaire: 1821-1867) กวีและนักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศส ได้เขียนไว้ในปี ค.ศ.1846 ว่า “ลัทธิโรแมนติกมิได้ตั้งอยู่บนหนทางของความจริงที่เป็นเหตุผล แต่เป็นวิถีแห่งความรู้สึก”
                 ในผลงานจิตรกรรมชื่อ “เสรีภาพนำประชาชน” เดอลาครัวซ์ได้นำเรื่องราวการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1830 มาสร้างเรื่องราวให้เกิดความสะเทือนใจตามแนวคิดลัทธิโรแมนติก เขาจัดการกับองค์ประกอบให้ดูราวกับการแสดงละครเวที ท่าทางของตัวละครในภาพถูกจัดวางไว้อย่างมีระบบและเต็มไปด้วยนัยยะที่สำคัญ
                  ภาพหญิงสาวที่กำลังย่างก้าวไปข้างหน้าได้ก้าวข้ามตรงมาสู่ผู้ดูโดยตรง เรือนร่างของหญิงสาวมิได้มีกิริยาเยี่ยงสตรีที่มีร่างบอบบาง แต่เป็นร่างกายที่ดูสูงใหญ่ หนาหนัก อุดมสมบูรณ์ไปด้วยกล้ามเนื้อ เต็มไปด้วยพลังความเคลื่อนไหวที่หนักแน่น และมีท่วงทีราวกับมหาบุรุษแห่งสมรภูมิ มือข้างขาวของเธอชูธงสามสีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างมั่นคง แม้ว่าทรวงเปลือยเปล่า แต่ก็มิได้มีสัญลักษณ์ของความอ่อนนุ่มหรือทางกามารมณ์แต่อย่างใด แม้ลักษณะภายนอกจะดูราวกับเทพีผู้สูงศักดิ์ในเทพนิยาย แต่เดอลาครัวซ์วาดให้เธอดูราวกับคนธรรมดาสามัญ เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่ละม้ายคล้ายคลึงกับชุดของหญิงสาวฝรั่งเศสสมัยนั้นนิยมกันทั่ว อีกทั้งสวมใส่หมวกไฟรเจียนบนศีรษะมีนัยยะถึงการเป็นนักปฏิวัติ เท้าที่เหยียบย่างบนพื้นอย่างมั่นคงช่วยส่งเสริมให้อิริยาบถของเธอดูสง่างาม ด้ายซ้ายมือของเธอเป็นเด็กจรจัดที่ดูไม่เหมาะสมนักกับการถือปืนทั้งสองมือเพื่อลุกขึ้นสู้ในการปฏิวัติ ทางด้านขวาเป็นชายหนุ่มสองคน ซึ่งเป็นตัวแทนของสัญลักษณ์ที่ต่างกันทางชนชั้น ชายผู้กำดาบในมือหมายถึงบุคคลผู้ใช้แรงงาน ในขณะที่ชายที่อยู่ในชุดเสื้อนอกสวมหมวกทรงสูงและมีลักษณะตามแบบฉบับสุภาพบุรุษเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของชนชั้นปัญญาชน
                 ลักษณะการจัดภาพของเดอลาครัวซ์เป็นรูปแบบที่นิยมนั้น คือการที่วางตำแหน่งศพในภาพกองบิดเบี้ยวอยู่เบื้องหน้า เด็กที่พับเข่าทแยงวิ่งนำหน้ากำลังยกมือเพื่อชูธงขึ้นสูง ทำให้เกิดเป็นรูปทรงพีระมิด
                 การระบายสีในภาพมีลักษณะทิ้งรอยของฝีแปรง (Painterly Style) ลักษณะโทนสีจะมีลักษณะเข้มขรึมด้วยสีน้ำตาลกับสีดำ สีที่ปรากฏเด่นชัดบนผืนธงเองก็ถูกนำมาใช้ซ้ำ ๆ หนักบ้างเบาบ้างตลอดทั้งภาพ เดอลาครัวซ์จะใช้สีขาวกระจัดกระจายอย่างอิสระที่สุด ส่วนท้องฟ้าใช้สีแดงสลับกับสีน้ำเงินดุคล้ำ สีน้ำเงินเข้มถูกนำมาใช้อย่างซ้ำ ๆ เป็นสีของถุงเท้าของคนตายทางด้านซ้ายมือ เป็นสีเสื้อของเด็กชายที่พับเข่าและเป็นสีผ้าผูกคอและเข้มขัด เช่นเดียวกับศพทางด้านขวามือมีสีแดงที่สะท้อนสีของธง ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและระบบสาธารณรัฐฝรั่งเศส เดอลาครัวซ์นำมาใช้ระบายเป็นสัตยาบันทางการเมือง
                 สัญลักษณ์ธงชาติฝรั่งเศสในภาพถูกนำมาใช้คู่กับหญิงสาวผู้เป็นจุดสนใจในภาพและถือเป็นตัวละครหลักนำเสนอเรื่องราวที่จำลองเหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมือง ตำแหน่งของธงชาติถูชูขึ้นเหนือตัวละครทั้งหมด ไม่เว้นกระทั่งมหาวิหารนอเทรอดาม (Cathédrale Notre Dame de Paris) ก็ยังถูกวางในตำแหน่งพื้นหลังด้านขวาของภาพ อีกทั้งยั้งมีขนาดสัดส่วนที่เล็กกว่าตัวละครหลักของภาพ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ที่อยู่ในกรุงปารีส
                 ในหนังสือ “What great paintings say” ซึ่งเป็นหนังสือที่วิเคราะห์และวิจารณ์ผลงานศิลปะตะวันตกชิ้นสำคัญ ๆ ได้อย่างละเอียด ได้เขียนถึงธงชาติฝรั่งเศสในผลงานชิ้นนี้อย่างน่าสนใจว่า

        ...ธงสามสีปรากฏเคียงคู่ไปกับอารมณ์ความขัดแย้งของเหล่าปัญญาชนและผู้นิยมระบอบสาธารณรัฐ ธงผืนนี้แสดงออกถึงอำนาจอันสูงสุดของประชาชนและชัยชนะแห่งเสรีภาพที่เหนือการกดขี่แบบเผด็จการ สำหรับประชาชนโดยทั่วไป แล้วถือว่าเป็นการปลุกเร้าความรักชาติอย่างตรงไปตรงมา ทำให้นึกถึงยุคแห่งความรุ่งโรจน์ที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส...

                 หญิงสาวกลางภาพแท้ที่จริงเป็นสัญลักษณ์ของ มารีอาน (Marianne) ซึ่งเป็นรูปลักษณ์สตรีอันเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อนำสัญลักษณ์ดังกล่าวเข้ามาประกอบกับธงชาติสามสีของฝรั่งเศสก็เป็นการสร้างสัญลักษณ์อันเกี่ยวโยงกับชัยชนะที่มีเรื่องของชาติฝรั่งเศสเป็นบริบทหลักอยู่เป็นสำคัญ การก้าวเดินของเทพีแห่งชัยชนะจึงมิเพียงการย่างก้าวของร่างสตรีธรรมดาที่ถือธงชาติ แต่เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการก้าวไปสู่วันแห่งชัยชนะของชาติ
                 สรุปแล้วความหมายโดยพื้นฐานของธงชาติในผลงานชิ้นนี้เป็นเรื่องของการแสดงความเป็นชาติ(Nationhood) ลัทธิชาตินิยม (Nationalism) และความรักชาติ (Patriotism) ดังนั้นธงชาติที่ปรากฏในภาพนี้จึงเป็นสัญลักณ์ของความเป็นชาติสาธารณรัฐฝรั่งเศส สะท้อนแนวคิดชาตินิยมแนวเสรี (Liberal Nationalism) โดยมีฐานคิดที่ว่า

  ...ชาติจึงเป็นชุมชนที่แท้จริงและเป็นอินทรียภาพ มิใช่เป็นผลงานสร้างของผู้นำทางการเมืองหรือชนชั้นปกครอง ชาตินิยมแนวเสรีถือว่าชาติกับอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเป็นเรื่องเดียวกัน...

                 โดยสรุปแล้วสัญลักษณ์ของธงชาติในผลงานจิตรกรรม “เสรีภาพนำประชาชน” นอกจากจะมีคุณค่าทางด้านศิลปะแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์อันสะท้อนถึงแนวคิดชาตินิยมที่มีบริบทร่วมกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองควบคู่กันไป ซึ่งสิ่งนี้ก็ยิ่งทำให้ความหมายของภาพนำไปสู่เนื้อหาทางด้านวีรกรรม การปฏิวัติ การเมือง และชาตินิยมควบคู่กันไปอย่างทรงประสิทธิภาพ



0 ความคิดเห็น: